วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ข้างหลังภาพ

เรื่องที่... เล่าซ้ำแล้วซ้ำอีก
อยากเล่า... ในมุมมองอื่น
คือเรื่อง... ที่มีความหมาย มีคุณค่า

...อะไร ?

“ข้างหลังภาพ”


...ทำไม ?

“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”
“ความรักของเธอเกิดที่นั่น และตายที่นั่น แต่ของอีกคนยังรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังจะแตกดับ”

สองวลีนี้คือความประทับใจของใครหลายคน จากบทประพันธ์ “ข้างหลังภาพ” ของศรีบูรพา มีเนื้อหาสะท้อนภาพของหม่อมราชวงศ์กีรติ หญิงผู้มีความรักที่บริสุทธิ์ในร่างและจิตใจที่บริสุทธิ์ เป็นกุลสตรีในอุดมคติของไทยคนหนึ่ง ซึ่งผู้อ่าน “ข้างหลังภาพ” ตั้งแต่ครั้งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” รายวัน เมื่อปี พ.ศ. 2480 หรือหนังสือรวมเล่มหลายต่อหลายครั้งที่พิมพ์ของสำนักพิมพ์มากมาย หรือชมผ่านภาพยนตร์โดยการกำกับของเปี๊ยก โปสเตอร์ เชิด ทรงศรี หรือกระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมา พ.ศ.2551 ในละครเวที “ข้างหลังภาพ เดอะมิวสิคัล” ต่างล้วนสัมผัสได้ถึงคุณค่าของงานประพันธ์ คุณค่าของภาษาไทย รวมถึงคุณค่าของขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมและความเป็นไทย เนื่องด้วยศรีบูรพาได้ประพันธ์ไว้อย่างลึกซึ้งทั้งภาษาที่สวะสลวยสวยงามและเนื้อหาที่ลึกซึ้ง อย่างการสื่อความโดยนัยของคุณหญิงกีรติต่อนพพร เป็นความลึกซึ้งและซับซ้อนให้คุณค่าทางวรรณกรรมอย่างแยบยล นอกจากนั้นผู้แต่งได้เสนอมุมมองส่วนตัวลงไปด้วย ไม่ว่าการเป็นกุลสตรีไทยที่รักนวลสงวนตัวคือความความงามอย่างมีคุณค่า แม้คุณหญิงกีรติจะไม่สมหวังในความรักแต่ก็ตราตรึง ประทับใจผู้อ่านหรือผู้ชมได้ตลอดมา รวมไปถึงทัศนะต่อคนในสมัยนั้นว่า นักเรียนนอก ใช่ว่าจบแล้วจะดีกว่า เก่งกว่า แค่มีโอกาสดีกว่า แต่หากไม่รู้จักแสวงหาโอกาสทำคุณประโยชน์หรือทำความเจริญให้กับบ้านเมือง ก็จะกลายเป็นคนไร้ค่าไป เป็นต้น

“ข้างหลังภาพ” เป็นตำนานรักอันอมตะ ถูกพูดถึงกันมามากมายหลายต่อหลายครั้ง เนื่องด้วยทุกสถานที่ ทุกเวลา ทุกชีวิตต้องมีและ
ต้องประสบพบเจอความรักเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้จักความรักอย่างดี “ความรัก” จึงง่ายต่อการเข้าถึงและรับสารของทุกคน

สำหรับการนำเสนอเรื่อง “ข้างหลังภาพ” มักจะถ่ายทอดมุมมองของความรักต่างวัย ที่มาพบกันในต่างแดน มีความสุขกันที่มิตาเกะ แต่ด้วยอุปสรรคของวัย ทัศนคติ สภาพสังคมชนชั้นและขนบจารีตประเพณีต่าง ๆ ทำให้กีรติเป็นสตรีผู้ไม่สมหวังในความรัก ซึ่งเป็นเช่นนี้ทุกครั้งไป แต่ใครเล่าจะเสนอมุมมองของเรื่องรักที่อมตะนี้ต่างออกไปหรือเพิ่มเติมเนื้อหา ซึ่งยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจสามารถสะท้อนมุมมองให้คุณค่าเพิ่มเติมแก่ผู้รับชม ด้วยทัศนะส่วนตัวและวิธีในการเล่าเรื่องหรือแนวคิดการนำเสนอ (Styles of Expression) ได้ จึงเป็นเหตุผลที่ข้าพเจ้าเลือกเรื่องนี้มาตอบ




...อย่างไร ?

จากความประทับใจในบทประพันธ์ และชื่นชมผู้แต่งเป็นทุน “ข้างหลังภาพ” ในฉบับที่ข้าพเจ้าต้องการจะเสนอ เป็นการขยายเนื้อหาที่แฝงอยู่ และเป็นการเพิ่มเติมมุมมองใหม่ลงไป เพื่อสะท้อนสาระหรือคุณค่าเพิ่มเติมนอกเหนือจากบทประพันธ์ลงไปสู่ผู้รับชม อย่างไรก็ตามยังคงลำดับเหตุการณ์ เล่าเรื่องเหมือนเดิมตามต้นฉบับ

ประการแรกคือการให้ความสำคัญกับตัวละครที่มีชื่อว่า “เจ้าคุณอธิการบดี” มากขึ้น ให้ความเด่นชัดกับเรื่องราวที่มีอยู่ โดยใช้วิธีการสื่อสารผ่านมุมมองของเจ้าคุณอธิการบดี ชายวัย 50 ปี(เมื่อเริ่มเรื่อง) ผู้เป็นสามีของหม่อมราชวงศ์กีรติ เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับขยายเนื้อหาที่มีลงไป และใส่รายละเอียดที่ไม่ได้กล่าวถึงในบทประพันธ์ อย่างการบอกเล่าหรือบ่งบอกถึงความคิด ความรู้สึก และเหตุผลในการกระทำของท่านเจ้าคุณให้ผู้อ่านหรือผู้ชมวิเคราะห์ได้ว่าท่านเป็นคนอย่างไร สิ่งที่บทประพันธ์กล่าวข้ามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่านเจ้าคุณตั้งแต่ก่อนและหลังการแต่งงานกับคุณหญิงกีรติ เป็นเช่นไร เช่น เจ้าคุณอธิการบดีมีความรักแท้จริงกับคุณหญิงอธิการบดี ภรรยาคนก่อนมาโดยตลอด จนวินาทีสุดท้ายก่อนที่เธอจะเสีย มีคำพูดที่ท่านให้ไว้กับคุณหญิงว่า “รักนี้มอบให้กับเธอชั่วนิรันดร์” หรือท่านเจ้าคุณหยิบรูปคุณหญิงอธิการบดีก่อนนอนทุกครั้งแม้จะแต่งงานกับหม่อมราชวงศ์กีรติแล้วก็ตาม เป็นการให้ภาพว่าท่านยังอาลัยและคิดถึงคุณหญิงอยู่ตลอด ไม่เสื่อมคลาย สลายไปกับกาลเวลา หรือฉากอื่นก็ใส่เนื้อหารายละเอียดลงไป อย่างขณะท่านเจ้าคุณอยู่ที่ประเทศไทยหรือในระหว่างเดินทางมาประเทศญี่ปุ่น ท่านเจ้าคุณแสดงออกอย่างไร ท่านเจ้าคุณประคองหรือแสดงความใส่ใจ หันไปมองคุณหญิงด้วยสายตาอย่างพ่อที่ปกป้องคุ้มครองดูแลลูก แสดงออกถึงความรักแต่ไม่ใช่อย่างคู่รักอย่างห่วงใย หรือขณะอยู่ที่ญี่ปุ่นแล้ว ท่านเจ้าคุณปล่อยให้คุณหญิงอยู่กับนพพรตามลำพังด้วยเหตุผลใด อาจเพิ่มฉากว่าท่านรู้เห็นทุกเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ว่าคุณหญิงกีรติกับนพพรไปกรรเชียงเรือ ท่องเที่ยวตามที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะมิตาเกะด้วยกัน ด้วยเหตุที่ท่านให้แม่ครัว คนที่เดินทางมาญี่ปุ่นพร้อมกับท่านเจ้าคุณและคุณหญิงกีรติ ติดตามดูแลคุณหญิงอยู่ห่าง ๆ เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ท่านเจ้าคุณจึงรู้ แต่ท่านเจ้าคุณก็ยอมรับและเคารพคุณหญิงเสมอ ซึ่งบ่งบอกได้ถึงความรู้สึกสัมพันธ์ที่ท่านเจ้าคุณมีต่อคุณหญิงกีรติ ซึ่งท่านไม่ใช่เจ้าของคุณหญิงกีรติ แต่ท่านรักและสงสารคุณหญิงเอง จึงมอบความดูแลคุ้มครองให้ด้วยใจบริสุทธิ์

ประการที่สองคือ มุมมองนอกเหนือจากการประพันธ์ เนื้อหาที่ข้าพเจ้าต้องการจะสื่อเพิ่มเติมว่า ผู้ใหญ่อย่างท่านเจ้าคุณและคุณหญิงกีรติไม่ใช่คนที่ไม่ทันต่อโลกหรือไม่ยอมรับกับความเปลี่ยนแปลง แต่เป็นผู้ที่สามารถตั้งรับ และปรับตัวเข้ากับโลกหรือความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเหตุผลด้วยความเข้าใจ ต่างกับวัยรุ่นอย่างนพพรที่พยายามต้องปรับตัวเองและรับสิ่งต่าง ๆ เพียงเพื่อความพอใจอย่างไม่คิด ซึ่งจะสะท้อนต่อผู้รับชมในปัจจุบัน โดยเฉพาะวัยรุ่น วัยที่ไวต่อการรับสารและเอื้อต่อโลกภิวัตน์หรือความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จนขาดวิจารณญาณ สติ หรือแม้กระทั่งตัวตนที่แท้จริง ซึ่งถูกกลืนกินไปพร้อมกับการได้มา ผ่านการเพิ่มเติมเนื้อหาที่ไม่ได้กล่าวไว้เข้าไป เป็นต้นว่า ณ ประเทศญี่ปุ่น นพพร นักเรียนไทยที่ไปศึกษาวิชาการทางด้านธนาคารที่นั่น มารับท่านเจ้าคุณกับคุณหญิงกีรติด้วยการโค้งคำนับ แต่ท่านเจ้าคุณและคุณหญิงกลับรับด้วยการไหว้ นั่นไม่ได้หมายความว่าท่านทั้งสองต้องการจะปฏิเสธความเป็นญี่ปุ่น เพียงแต่เหตุและผลของสถานที่ อีกทั้งความเป็นคนไทยด้วยการไหว้เป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงตัวตน รากเหง้าได้ ส่วนการโค้งคำนับของนพพรนั้นแสดงว่า นพพรอยู่ที่ญี่ปุ่นมานานจนกลืนเป็นส่วนหนึ่งจนแสดงการคำนับตามวัฒนธรรมญี่ปุน แล้วต้องการให้ท่านเจ้าคุณและคุณหญิงกีรติรับกับวัฒนธรรมนี้ หรือนพพรไม่ทันคำนึงถึงเรื่องการไหว้ของไทยนี้

จากทั้งสองประการที่เสนอมาสามารถนำมารวมกันเสนอเป็นใจความใหญ่ได้ ตัวอย่างเช่น แม้อดีตจะมีการคลุมถุงชนหรือแต่งงานกันอย่างไม่ยินยอมมากกว่าปัจจุบัน แต่การที่เจ้าคุณอธิการบดีครองคู่กับคุณหญิงกีรติ เป็นสามีภรรยากันมาได้จนคนใดคนหนึ่งจากไป เป็นการแสดงออกให้เห็นว่าสามีในสมัยก่อนนั้น ความรักไม่ใช่ปัจจัยให้คู่รักครองคู่ได้ แต่เป็นการให้เกียรติ ความไว้ใจให้กัน เวลา และการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงของ
กันและกัน แล้วชีวิตคู่ของทั้งสองจะคงอยู่ได้ด้วยความเป็นห่วงและเกรงใจ แม้ความรักจะไม่มีหรือเจือจางลง การที่ท่านเจ้าคุณอธิการบดีปฏิบัติต่อหม่อมราชวงศ์กีรติ ตลอดมา โดยเฉพาะที่เราสังเกตได้จากที่ประเทศญี่ปุ่น คือ ท่านเป็นผู้ใหญ่มีเหตุมีผล ยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ให้เกียรติคุณหญิง ให้คุณหญิงเลือกทำในสิ่งที่ต้องการ ไม่บังคับหรือห้ามหรือรั้งตัวคุณหญิงไว้ให้อยู่กับตน อย่างการเดินทางไปฮันนีมูนที่ญี่ปุ่นนั้น ท่านเจ้าคุณเองมีเหตุผลที่ท่านต้องการมอบความสุขให้คุณหญิงกีรติ เนื่องด้วยท่านรักและสงสารในตัวคุณหญิง อยากให้การที่แต่งงานกันนั้นมีความหมายบ้าง แม้จะแต่งงานกับคนอายุมาก อย่างท่านเจ้าคุณ นั่นจึงทำให้ตลอดมา คุณหญิงก็ได้แสดงออกซึ่งภรรยาที่ดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ ปรนนิบัติดูแลท่านเจ้าคุณ ไม่รังเกียจต่อโรคภัยที่ท่านเจ้าคุณเผชิญอยู่จนวินาทีสุดท้าย นอกจากนี้การที่ท่านเจ้าคุณและคุณหญิงกีรติซึ่งเป็นตัวอย่างของคู่รักหนึ่งที่เริ่มต้นแต่งงานโดยปราศจากความรักเหมือนคู่อื่นทั่วไป สะท้อนถึงการมีชีวิตคู่อย่างคนในปัจจุบันที่คำนึงถึงแต่คำว่า “รัก” เพียงอย่างเดียว อีกทั้งต้องการให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงเพื่อเราและไม่ยอมเปลี่ยนตัวเอง ซึ่งอาจเป็นตัวการหนึ่งที่การครองรักได้ไม่นาน สุดท้ายต้องแยกจากกัน

จากตัวอย่างที่ผ่านมา คงแสดงให้เห็นว่า ใช้ประเด็นเสนอด้วยมุมมองนี้สื่อสารให้ผู้รับสารเข้าใจและคำนึงถึงได้ทั้งใจความหลัก พร้อมทั้งแตกเป็นใจความย่อย ๆ ที่สามารถสะท้อนเป็นกระจกเงามาสู่ปัจจุบันนี้ได้ ซึ่งคงต้องใช้การถ่ายทอด ไม่ว่าภาพหรือเสียงหรือด้วยข้อความ อย่างบทสนทนาเพิ่มเติมลงไป ดังตัวอย่างต่อไปนี้

คืนที่ท่านเจ้าคุณได้รับเชิญไปในงานรื่นเริงรายหนึ่ง แต่หม่อมราชวงศ์กีรติไม่สบาย แต่กลับต้องไป ด้วยใจหนึ่ง ท่านเจ้าคุณเลี่ยงไม่ไปตามคำเชิญจะเสียมารยาท เนื่องจากตนเป็นแขกบ้านแขกเมือง เดินทางมาประเทศอื่น ปฎิเสธไปจะดูไม่ควร แต่อีกใจหนึ่งท่านเจ้าคุณอาจต้องการอยู่กับคุณหญิงดูแลตามความเป็นสามี เนื้อเรื่องกลับพูดถึงท่านเจ้าคุณเพียงว่า ท่านเจ้าคุณขอให้นพพรอยู่เป็นเพื่อนภรรยาของท่านเท่านั้น แล้วกล่าวถึงฉากที่นพพรกับคุณหญิงกีรติไปกรรเชียงเรือเล่นทันที ฉะนั้นจึงควรเพิ่มเติมฉาก ขยายบทลงไป เช่น


หลังจากที่ท่านเจ้าคุณกล่าวขอให้นพพรอยู่เป็นเพื่อนคุณหญิง ขณะเตรียมชุด แต่งตัวออกจากบ้าน แม่ครัว ผู้ที่ท่านเจ้าคุณใช้ให้ติดตามดูแลคุณหญิงเดินเข้ามาพูดถึงเรื่องคุณหญิงกับนพพรอยู่ด้วยกันสองคนจะดูไม่งาม ดังนี้

“ท่านเจ้าคุณค่ะ คุณหญิงกับคุณนพพร...”
“ไม่เป็นไรหรอก ฉันรู้ ฉันเข้าใจ หล่อนก็รู้ว่าฉันกับกีรติ...”
“ค่ะ...”
“ฉันให้นพพรมาดูแลคุณหญิงแทนฉัน”
“แต่นั่นจะดูไม่งาม...”
“อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ฉันต้องเข้าใจและยอมรับ แม้มันยากที่จะบังคับใจ ฝืนในสิ่งที่ฉันไม่อยากทำ ฉันก็ต้องยอมรับ บังคับใครไม่ได้
ก็เปลี่ยนตัวเอง หล่อนไม่ต้องเป็นห่วงหรอกนะ ปล่อยให้คุณหญิงได้ใช้ ใช้เวลาของเธอ” จากนั้นเจ้าคุณอธิการบดีเดินออกจากบ้านพักมาขึ้นรถเดินทางไปงาน

ขณะนั่งอยู่ในรถ เจ้าคุณอธิการบดีหยีบสร้อยพระที่สวมอยู่มาไว้ในมือ แล้วอธิษฐานในใจ
“กีรติ ฉันรัก... และสงสารเธอ ฉันอยากให้เธอมีความสุขนะ”


เหตุผลที่ข้าพเจ้าเลือกขยายและเพิ่มเติมมุมมองของเจ้าคุณอธิการบดี เนื่องด้วยมีรายละเอียดบางอย่างที่ข้าพเจ้าสงสัยขณะอ่านและรู้สึกว่าทำไมถึงกล่าวข้ามไป จึงอยากสร้างให้ตัวละครนี้มีบทบาทมากขึ้น ยังมีความลึกซึ้งแฝงอยู่ รวมถึงสะท้อนอะไรได้มากกว่าเพียงเป็นผู้สูงด้วยศักดิ์และวัยธรรมดาทั่วไป เช่น แม้ท่านเจ้าคุณจะผ่านชีวิตการครองคู่มาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง แต่เรื่องราวในบทประพันธ์กับเนื้อหาที่เพิ่มเติมเข้าไปก็สามารถเป็นตัวอย่างได้อย่างดีว่า ท่านเจ้าคุณสามารถยอมรับและปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างดีและมีสติ ไม่ติดอยู่กับอดีต ความเศร้าโศกที่เสียคุณหญิงอธิการบดีไป ซึ่งสามารถเสนอภาพเพิ่มเติมได้อีกว่า ท่านเจ้าคุณมีสติมีจิตใจที่เข้มแข็งอยู่ได้ด้วยพระพุทธศาสนา ให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ทำใช้ชีวิตและจิตใจสงบ ดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท ต่างกับนพพรที่ยังหนุ่มแต่จมอยู่กับการที่คุณหญิงกีรติต้องจากตนไป ขาดสติและเหตุผลระงับ อาจคิดว่าตนเป็นเหมือนศูนย์กลางของจักรวาลที่ดาวดวงอื่นจะต้องโคจรเป็นบริวารตน เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรื่องราวของเจ้าคุณอธิการบดีสามารถเพิ่มเรื่องราวได้มากมาย อีกทั้งสะท้อนมุมมองที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้อ่านผู้ชมได้ทุกยุคสมัย ประกอบกับคุณค่าที่แฝงอยู่มากมายในบทประพันธ์เดิมอย่างข้อมูลทางประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว สภาพสังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ตัวอย่างเช่น มิตาเกะ เป็นสถานที่คุณหญิงกีรติและนพพรเดินทางไปพักผ่อนด้วยกัน และเกิดเรื่องราวความรักตามในบทประพันธ์ ซึ่งสร้างความอยากรู้อยากเห็นว่า สถานที่นี้ สวยงามเช่นไร เมื่อผู้อ่านสนใจแล้วติดตามไปที่มิตาเกะแล้ว ก็จะพบกับธรรมชาติความสวยงาม ประวัติความเป็นของสถานที่ อีกทั้งท่องเที่ยวในบริเวณนั้น เช่นวัดมิตาเกะ วัดผสมระหว่างชินโตกับพระพุทธศาสนา ได้ถูกสร้างให้กลมกลืนกับธรรมชาติ และเรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นเพิ่มเติม เป็นต้น

ข้าพเจ้าในฐานะเป็นผู้อ่าน “ข้างหลังภาพ” คนหนึ่งรู้สึกว่า ท่านเจ้าคุณเป็นผู้ใหญ่สูงอายุที่เข้าใจในตัวของคุณหญิงกีรติ สงสารและเอ็นดูคุณหญิง การวิวาห์ไม่ใช่การผูกมัดให้คุณหญิงต้องมาจมปรักอยู่กับชายร่างที่ใกล้จะดับนี้ พร้อมและให้โอกาสคุณหญิงหากพบชายที่ใช่หรือเหมาะสม อย่างที่นพพรสามารถอยู่ใกล้ชิดสนิทสนมกันสองต่อสองได้ ซึ่งตามประสาของผู้ที่เป็นสามีย่อมต้องหวงหรือรั้งให้ตนได้อยู่ใกล้ชิดกับภรรยา ไม่ให้ใครอื่นมาเกาะแกะด้วย ซึ่งจากทั้งสองประการที่กล่าวมา ทั้งการขยายและเพิ่มเติมเนื้อหาสามารถประสานสอดคล้องเป็นเรื่องหลักใหญ่ ผ่านตัวละคร “เจ้าคุณอธิการบดี” ได้เป็นเนื้อเดียว เหมือนต้นไม้ต้นหนึ่งที่หยั่งราก แตกสาขาไปได้ทั่ว ซึ่งรากเหล่านั้นเป็นดั่งความคิดอีกทัศนะมากมายที่ได้จากต้นไม้ต้นนี้ ซึ่งอาจแฝงไว้อยู่อย่างแยบยล จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจในตัวท่านเจ้าคุณมากขึ้นและคลายความสงสัย หากผู้อ่านหรือผู้ชมท่านใดมีความรู้สึกฉงนอย่างข้าพเจ้า รวมถึงสามารถเป็นตัวอย่างการเสริมเติมเรื่องราวให้มากขึ้น จุดประกายผู้รับชมท่านอื่นหาข้อมูลประกอบเรื่องราว “ข้างหลังภาพ” นี้ ให้สมบูรณ์หรือหลากหลายนานาทัศนะมากขึ้น

สำหรับวิธีการนำเสนอนั้นข้าพเจ้าคงแนวคิดการนำเสนอศิลปะแบบสัจนิยม หรือ Realism ไว้ตามปกติเหมือนจริงอย่างภาพที่เสนอกันมาในภาพยนตร์หรือละครเวที ความเป็นธรรมชาติทั่วไป สมจริง และเป็นธรรมดามนุษย์ เนื่องด้วยเรื่องมุมมองที่ข้าพเจ้าใช้เป็นเพียงการเพิ่มเติมอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง สำหรับการสร้างสรรค์ด้วยวิธีอื่น อย่างแนวคิดความจริงอันสูงสุด (Surrealism) หรือแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) จะใช้เพื่อสร้างเสริมอัธรสหรือเพิ่มความงดงามทางภาพ การสื่อความหมายมากขึ้นให้กับการกระทำของตัวละครในเรื่อง อย่าง สีของธรรมชาติ ดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงผ่านลำธารเป็นสีชมพูประกาย โขดหินที่มิตาเกะมีรูปร่างคล้ายคนรักกันแสดงว่ามิตาเกะเป็นสถานที่ก่อเกิดความรักให้กับใครมาแล้วหลายคู่ หรือสะท้อนว่าความรักของคุณหญิงและนพพรเกิดขึ้นที่นั่น และทันทีที่คุณหญิงเอามือสัมผัสน้ำบนเขามิตาเกะ มือก็เปลี่ยนสี สื่อถือคนที่กำลังมีความรักเป็นความมหัศจรรย์ (Magical) หนึ่ง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ยังต้องคงความกลมกลืนระหว่างความเป็นธรรมชาติกับความสมจริง ด้วยการแทรกความเหนือจริงนี้

จากคำตอบที่กล่าวมาทั้งหมด ข้าพเจ้าหวังว่าจะเป็นการเล่าเรื่องในมุมมองใหม่ที่มีความหมายและสร้างคุณค่าเพิ่มเติมให้กับบทประพันธ์ได้ไม่มากก็น้อย หากการนำเสนอนี้ผิดพลาดประการใด หรือมีสิ่งใดไม่สมควร ไม่เหมาะสม ข้าพเจ้าขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น